โครงการส่งเสริมเกษตรกรด้านการประมง

โครงการส่งเสริมเกษตรกรด้านการประมง (พัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)

สำนักงานตรวจราชการกรมดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๑ – ปัจจุบัน

ตัวชี้วัดกรม : เชิงปริมาณ น้ำหนักร้อยละ ๕ จำนวนเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมและบริการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเฉลี่ยปีละประมาณ ๒๔,๐๐๐ ราย

: เชิงคุณภาพ น้ำหนักร้อยละ ๕ ผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรที่ได้รับการพัฒนาต่อไร่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า

กิจกรรม : ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและการจัดการ

หลักการและเหตุผล

การพัฒนาอาชีพด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมงได้ดำเนินกิจกรรมในลักษณะการกำหนดรูปแบบการเลี้ยงให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ อาทิ การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก ซึ่งบางครั้งกิจกรรมที่กำหนดให้ไม่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และเกษตรกร เมื่อเกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมการดำเนินการมีความยุ่งยาก เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมประมงและสำนักงบประมาณ กรมประมงจึงมอบหมายให้สำนักงานตรวจราชการกรมเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการส่งเสริมเกษตรกรด้านการประมง (พัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่พิจารณาดำเนินกิจกรรมให้ตอบสนองความต้องการของเกษตรกร ตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเพิ่มผลิตภาพซึ่งเป็นการเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตรอย่างมีคุณภาพโดยสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรรายอื่นในพื้นที่

วัตถุประสงค์

เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการประมงพัฒนาอาชีพของเกษตรกรด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเกษตรกรสามารถผลิตสัตว์น้ำเพื่อบริโภคในครัวเรือน

พื้นที่ดำเนินการ

ดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสงขลา สตูล ยะลา นราธิวาส และปัตตานี)

กลุ่มเป้าหมาย

เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับสำนักงานประมงจังหวัดที่ไม่มีประวัติพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ปีละประมาณ ๒๔,๐๐๐ ราย

วิธีการดำเนินงาน

กำหนดกิจกรรมย่อยโดยพิจารณาจากศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการด้านตลาดรวมทั้งปัจจัยการผลิตที่สามารถหาได้ง่ายในท้องที่ สำนักงานตรวจราชการกรมรวบรวมเสนอกรมประมง และกระทรวงเกษตรฯ ขออนุมัติกิจกรรมงบประมาณและหลักสูตรในการฝึกอบรมบุคคลภายนอก แล้วจัดอบรมเกษตรกรตามหลักสูตรพร้อมเข้าตรวจเยี่ยมติดตามให้คำแนะนำและประเมินผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรที่ได้รับการพัฒนา โดยมีการรายงานผ่านเว็บไซต์สำนักงานตรวจราชการกรมทุกขั้นตอน

ประโยชน์สู่เกษตรกร

เกษตรกรได้รับการส่งเสริมและบริการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามความต้องการของตัวเองเฉลี่ยปีละประมาณ ๒๔,๐๐๐ รายทั่วประเทศ