ความเคลื่อนไหว ข่าวประมง
การส่งออกกุ้งเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10
5 มกราคม 2564
ในเดือนกันยายน 2563 การส่งออกกุ้งของเวียดนามมีมูลค่าเกือบ 385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 ซึ่งถือว่านี่เป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 นี้ มีมูลค่าการส่งออกกุ้ง 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 การส่งออกกุ้งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน (ยกเว้นในเดือนมกราคม)
ในเดือนกันยายน 2563 เวียดนามส่งออกกุ้งไปยังตลาดที่สำคัญเพิ่มขึ้น (ยกเว้นการส่งออกกุ้งไปญี่ปุ่นเท่านั้นที่ลดลง) เช่น สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6 จีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 เกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.3 แคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.7 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหภาพยุโรปเวียดนามมีการส่งออกกุ้งไปตลาดนี้สูงที่สุดในเดือนกันยายน 2563 นับตั้งแต่ต้นปี อันเป็นผลเนื่องมาจากความตกลงการค้าเสรีเวียดนาม – สหภาพยุโรป ตลาดที่สำคัญของสินค้ากุ้งเวียดนามมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับต่อความต้องการในช่วงเทศกาลปีใหม่
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 กุ้งขาวมีสัดส่วนร้อยละ 72 ของกุ้งส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม กุ้งกุลาดำมีสัดส่วนร้อยละ 16 และที่เหลือจะเป็นกุ้งทะเล มูลค่าการส่งออกกุ้งขาวทั้งหมดของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในขณะที่กุ้งกุลาดำมีการส่งออกลดลงร้อยละ 15 การส่งออกกุ้งขาวแปรรูป (HS 16) และกุ้งขาวมีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง (HS 03) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และ 7 ตามลำดับ การส่งออกกุ้งกุลาดำแปรรูป (HS 16) เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 และกุ้งกุลาดำมีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง (HS 03) ลดลงร้อยละ 20
สหรัฐอเมริกา: สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่สำคัญที่มีการนำเข้ากุ้งจากเวียดนามจำนวนมาก มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 24 ในเดือนกันยายน 2563 เวียดนามมีการส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เวียดนามส่งออกกุ้งไปตลาดสหรัฐอเมริกามีมูลค่ามากถึง 634.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 แต่เวียดนามยังคงมีการส่งออกกุ้งไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นทุกเดือนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 สหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นตลาดที่มีความต้องการนำเข้ากุ้งจากเวียดมากที่สุดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 สหรัฐอเมริกานำเข้ากุ้งเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในภาคการค้าปลีก
จากข้อมูลของ องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The US National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA)ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 สหรัฐอเมริกามีการนำเข้ากุ้งทั้งหมด 460,070 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ในตลาดสหรัฐอเมริกา 8 เดือนแรกของปี 2563 กุ้งของเวียดนามได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่น ๆ เช่น อินเดีย และเอกวาดอร์ เนื่องจากสามารถผลิตได้เร็วขึ้นหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ราคากุ้งทุกขนาดหน้าฟาร์มในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้แบ่งบรรจุภัณฑ์ในอินเดียต้องเจอกับปัญหากุ้งขาดตลาด
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 สหรัฐอเมริกามีการนำเข้ากุ้งจากผู้ส่งออกที่สำคัญเพิ่มขึ้น โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเอกวาดอร์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา และนำเข้าจากอินเดียเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
สหภาพยุโรป: สหภาพยุโรปถือได้ว่าเป็นตลาดผู้นำเข้ากุ้งใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของเวียดนาม รองจาก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.8 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดของเวียดนาม หลังจากที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลงติดต่อกันมานานหลายเดือน การส่งออกกุ้งของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปกลับมาเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี อันเป็นผลมาจากการทำความตกลงการค้าเสรีเวียดนาม - สหภาพยุโรป ที่มีผลเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2563 ในเดือนกันยายน 2563 เวียดนามส่งออกกุ้งไปสหภาพยุโรปมีมูลค่า 57.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกกุ้งไปยังสหภาพยุโรปทั้งหมด 371 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3
ในสหภาพยุโรป ร้านอาหารต่าง ๆ และธุรกิจบริการอาหารค่อย ๆ ทยอยเปิดดำเนินการ และเริ่มกลับมามีการท่องเที่ยว เดินทาง ในขณะที่ ภาคการค้าปลีก หรือการค้าออนไลน์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความต้องการกุ้งในภาคการค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมในช่วงเทศกาลสิ้นปี สหภาพยุโรปเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เป็นตลาดเป้าหมายของภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการเพิ่มปริมาณการส่งออกมายังตลาดนี้ไปจนถึงช่วงปลายปี คาดการส่งออกกุ้งของเวียดนามมายังสหภาพยุโรปนับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงสิ้นปีจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เนื่องจากการส่งออกกุ้งที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี คาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดของเวียดนามในปี 2563 นี้สูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับปี 2562
การส่งออกทูน่าของเวียดนามไปสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวแล้ว
30 ธันวาคม 2563
หลังจากที่ยอดส่งออกท่าของเวียดนามไปตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง ตอนนี้การส่งออกเพิ่มขึ้นแล้ว แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าการส่งออกทูน่าของเวียดนามไปสหรัฐอเมริกาในเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 และเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 การส่งออกทั้งหมดไปยังสหรัฐอเมริกาในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 208 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562
ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2563 เวียดนามส่งออกทูน่าสดแช่เย็น แช่แข็ง และปลาทูน่าตากแห้ง ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ในขณะที่การส่งออกทูน่าแปรรูป และทูน่ากระป๋องกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ซึ่งการเติบโตนี้ทำให้มูลค่าการส่งออกทูน่าแปรรูปและทูน่ากระป๋องทั้งหมดของเวียดนามไปตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.8 เป็นร้อยละ 55
ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2563 กลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อทูน่าแช่แข็ง พิกัด HS0304ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หลักของเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ต้องบอกว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อทูน่าแช่แข็งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์นี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 44 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าทั้งหมดของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา
ในขณะที่ การส่งออกทูน่ากระป๋องของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐอเมริกากลับเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องของเวียดนามที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาที่สำคัญ คือ เนื้อทูน่าท้องแถบในกระป๋องทุกชนิด และเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อน สัดส่วนการส่งออกทูน่ากระป๋องของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 36 ของมูลค่าการส่งออกทูน่าทั้งหมดไปยังสหรัฐอเมริกา นอกจากทูน่ากระป๋องแล้ว ผลิตภัณฑ์ทูน่าแปรรูปอื่น ๆ ที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มขึ้นด้วย
ราคาเฉลี่ยของเนื้อปลาทูน่าแช่แข็ง พิกัด HS0304ที่เวียดนามส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ราคาอยู่ที่ประมาณ 9.3 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม ในขณะที่ ราคาส่งออกเฉลี่ยของเนื้อปลาทูน่านึ่งแช่แข็ง พิกัด HS16041490 อยู่ที่ประมาณ 7.1 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม
ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจต้องมีการจัดซื้อสินค้าเข้าสู่สต๊อก เนื่องจากสินค้าที่มีอยู่เริ่มที่จะหมดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าอาหารและวัตถุดิบเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกเหนือจากสาเหตุนี้ สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าทูน่าแปรรูป เช่น เนื้อทูน่านึ่งแช่แข็ง – วัตถุดิบเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋อง และทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปีอยู่แล้ว
จากข้อมูลของ ITC ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าปลาทูน่าแปรรูป และทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นในทุก ๆ เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลาทูน่าแปรรูป และปลาทูน่ากระป๋อง ที่สหรัฐมีการนำเข้ามากกว่า 170,000 ตัน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 835 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปริมาณการนำเข้าสูงที่สุดในรอบ 5 ปี
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในตลาดสหรัฐอเมริกา ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มีการส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน นอกจากไทยที่มีการส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีเวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่มีการส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นด้วย โดยเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 อินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
แม้ว่า การส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังสหรัฐอเมริกาจะมีการเติบโต แต่ผลิตภัณฑ์ทูน่าของเวียดนามก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ทูน่าจากอินโดนีเซีย และเม็กซิโก เนื่องจากราคาสูงกว่า ดูได้จากราคาผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องจากอินโดนีเซีย และเม็กซิโกมีแนวโน้มลดลง แต่ราคาผลิตภัณฑ์ทูน่าของเวียดนามกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ที่มา: http://seafood.vasep.com.vn/
แปลและเรียบเรียงโดย: พักตร์มณี เส่งถิน
สถานการณ์อุตสาหกรรมประมงในช่วงการระบาดโควิด - 19
กุ้งขาวแวนนาไมเพาะเลี้ยงในอินเดียและอินโดนีเซียมีราคาลดลงในช่วงปลายปี และจากข้อมูลการส่งออกล่าสุด เอกวาดอร์กลายเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดแทนที่อินเดีย โดยอินเดียส่งออกกุ้งแช่แข็ง 413,000 ตันในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่เอกวาดอร์ส่งออก 499,000 ตัน เติบโตร้อยละ 6
บริษัททำประมงนอกน่านน้ำของจีน ตกลงขายเรือโรงงานประมงอวนลาก Kai Yu ให้กับบริษัทประมงของรัสเซียในราคา 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เรือดังกล่าวใช้ในการจับปลาแมคเคอเรล ที่ขายให้กับไนจีเรีย
แต่ช่วงที่ผ่านมาความต้องการปลาแมคเคอเรลจากไนจีเรียลดลง และจากสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้ต้นทุนในการขนส่ง รวมถึงการนำปลาขึ้นท่าและการดูแลรักษาเรือสูงขึ้น
รัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุนบริษัท หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคและไม่สามารถมาทำงานได้ ทำให้บริษัทยังคงสามารถทำกำไร และตอบสนองความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น กลุ่มบริษัทJohnWest Foods ของไทยยูเนี่ยน ได้รับคำสั่งซื้อสูงในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรน่า เนื่องจากร้านอาหารปิดบริการ ทำให้ยอดขายอาหารพร้อมรับประทานในห้างค้าปลีกมียอดขายสูงขึ้น ผู้บริหารและพนักงานได้ดำเนินการตามมาตรการล็อกดาวน์ และมีการให้พนักงานทำงานจากที่บ้านตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งไทยมีการหยุดการจับผลผลิต เนื่องจากตลาดทะเลไทยในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานคร ตลาดค้าส่งกุ้งต้องปิด และปฏิบัติตามมาตรการให้หยุดทำการเป็นเวลา 14 วัน จากผลกระทบของโรคโควิด - 19
ที่มา: undercurrent news 23 ธันวาคม 2563